หน้าแรก / ข่าวลิเวอร์พูล / เจาะลึก "กัปตันเจิด" ในวัย 34 ปีกับบทบาทที่เหมาะสม

เจาะลึก "กัปตันเจิด" ในวัย 34 ปีกับบทบาทที่เหมาะสม

เจาะลึก กัปตันเจิด ในวัย 34 ปีกับบทบาทที่เหมาะสม

เจาะลึก "กัปตันเจิด" ในวัย 34 ปีกับบทบาทที่เหมาะสม

          หลังจากจบเกมล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นทางด้านฝั่งเจ้าถิ่น "หงส์แดง" เปิดรังแอนฟิลด์เฉือนเอาชนะ "ช่างปั้นหม้อ" เฉียดฉิว 1-0 จากประตูโทนพลีชีพของ เกล็น จอห์นสัน ในช่วงท้ายเกม อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดไม่แพ้กับประตูชัย ก็คงเป็นการดร็อป สวีเว่น เจอร์ราร์ด เป็นสำรอง และส่งลงสนามมาในนาทีที่ 75 กับบทบาทเดิมที่เขาทำได้ดี นั่นก็คือการเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุกหรือหน้าต่ำ อยู่ด้านหลังของ ริคกี้ แลมเบิร์ต โดยวันนี้เรามาเจาะลึกกันว่าบทบาทที่เหมาะสมของ "กัปตันเจิด" ในวัย 34 ปี แบบไหนจะดีที่สุดสำหรับตัวเขาและทีม


 

1. กองกลางตัวรับกับอายุที่มากขึ้น

          อย่างที่ทราบกันดีว่า ด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้บทบาทของ เจอร์ราร์ด ที่ตอนแรกเล่นในตำแหน่งมิดฟิดล์ตัวรุกหรือหน้ำต่ำนั้น ต้องค่อย ๆ ปรับลงมาเล่นต่ำลงเรื่อย ๆ ตามพละกำลังที่มีและอายุที่เพิ่มมากขึ้น (ตัวคุมจังหวะ > หน้ำต่ำ > เพลย์เมกเกอร์ > ตัวคุมจังหวะ > กลางรับตัวตัดเกม) ซึ่งเมื่อฤดูกาล 2013/14 "หัวขิง" ถูกปรับมาเล่นในบทบาทเดียวกับ อันเดรีย ปีร์โล่ (ตัวคุมจังหวะ) และก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะมีจังหวะผิดพลาดบ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งในช่วงท้าย ๆ ฤดูกาล ยาวมาจนถึงต้นซีซั่น 2014/15 เขาถูกส่งลงไปเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรับและมีบทบาทในการตัดเกมโดยเฉพาะ เรียกว่ายืนอยู่ด้านหน้าคู่เซ็นเตอร์แบ็คเลยทีเดียว

MANCHESTER, ENGLAND - Monday, August 25, 2014: Liverpool's Steven Gerrard looks dejected during the Premier League match at the City of Manchester Stadium. (Pic by Chris Brunskill/Propaganda)

          อย่างไรก็ดี ปัญหาที่แท้จริงของ เจอร์ราร์ด ไม่ใช่บทบาทที่เขาได้รับมอบหมาย แต่เป็นสภาพร่างกายและสังขารที่ล่วงเลยไปเยอะแล้วนั่เอง ทำให้ศักยภาพทางด้านร่างกายในการวิ่งหรือกระชากบอลรวมถึงจังหวะยิงไกล ที่เราแทบจะไม่ค่อยได้เห็นแล้วในสองฤดูกาลหลัง แตกต่างกับเพื่อนร่วมทีมชาติอย่าง แฟร้งค์ แลมพาร์ด ที่ยังคงรักษามาตรฐานในตำแหน่งกองกลางตัวกลางได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะหลุดไปเป็นตัวสำรอง แต่จุดเด่นของ "กัปตันเจิด" ที่มีมากกว่า แลมพาร์ด ก็คือความยืดหยุ่นในการเล่นตำแหน่งที่หลากหลาย และความดุดันในการเล่นที่ชัดเจนกว่า

          ผลกระทบต่อทีมจากการที่เขาลงไปเล่นในบทบาทนี้ ซึ่งหากเกมรุกอันประกอบไปด้วย จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, ราฮีม สเตอร์ลิง และ ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ไม่สามารถทำเกมรุกขึ้นไปถึงโซนอันตรายของคู่แข่งได้ นั่นหมายความว่า ลิเวอร์พูล ก็แทบจะไม่มีจังหวะจบสกอร์ได้เลย เพราะด้วยประสบการณ์ที่น้อยของนักเตะ "ยัง บลัด" เหล่านี้ ยังเก๋าเกมไม่พอ หากจะเทียบชั้นกับ เจอร์ราร์ด เพียงคนเดียว ที่เคยเล่นมาหมดแล้วในตำแหน่งแผงกลาง


 

2. เพลย์เมกเกอร์หรือมิดฟิลด์หมายเลข 10

          หากว่าใครยังไม่เคยเห็นจุดสูงสุดในการค้าแข้งของ สตีเว่น เจอร์ราร์ด ต้องลองย้อนกลับไปดูฤดูกาล 2004/05 และ 2008/09 ซึ่งเป็นสองซีซั่นที่เขาทำได้ดีที่สุด โดยเฉพาะปี 2008/09 ที่บทบาทของ "หัวขิง" แทบจะเล่นเป็นหน้าต่ำ ยืนอยู่หลังของ เฟร์นานโด ตอร์เรส ด้วยซ้ำไป และผลงานการลงสนามของเขาทั้งหมด 44 เกม สามารถยิงประตูได้ถึง 24 ลูก นำเป็นดาวซัลโวเดี่ยว มากกว่า ตอร์เรส ถึง 7 ประตู

PRESTON, ENGLAND - Saturday, January 3, 2009: Liverpool's captain Steven Gerrard MBE and Fernando Torres celebrate Fernando Torres' late goal to make the final score 2-0 against Preston North End during the FA Cup 3rd Round match at Deepdale. (Photo by David Rawcliffe/Propaganda)

          นี่คือตำแหน่งที่หลายคน มองว่า "นี่แหละ...ใช่เลย" สำหรับ เจอร์ราร์ด ซึ่งเขาถูกเล่นในบทบาทนี้อีกครั้ง ในเกมกลางสัปดาห์ที่เสมอกับ ลูโดโกเร็ตส์ 2-2 ในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นับเป็นการกลับมายึดตำแหน่งนี้อีกครั้ง หลังจากการเข้ามาของ ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ และแน่นอนว่าทำให้เกมรุกของ ลิเวอร์พูล ดูดีขึ้น แถมยังสร้างปัญหาให้กับคู่แข่งได้ไม่น้อย แต่ปัญหาเดียวสำหรับเกมในวันนั้นก็คือ การยืนระยะครบ 90 นาทีกับอายุ 34 ปีของเขา ช่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเสียเลย

          ดูเหมือนว่าการดร็อป คูตินโญ่ และเปิดทางให้กับ เจอร์ราร์ด ในการออกสตาร์ทเป็นตัวจริง ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับทีมและตัวของทั้งคู่ เพราะความสดของ "คูตี้" ที่มีมากกว่า น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับโอกาสลงสนามก่อนด้วยซ้ำ และให้ "กัปตันเจิด" ลงสนามเป็นตัวสำรองน่าจะเหมาะกว่า ซึ่งปัญหาอยู่ที่ว่า "ใครจะเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวตัดเกมแทนเขา" ในยามที่ไร้ ชาบี อลอนโซ่ และ ฮาเวียร์ มาสเคราโน่


 

3. เป็นตัวสำรองบ้างน่าจะดี

          เห็นผลชัดเจนในเกมล่าสุดที่พบกับ สโต๊ค ซิตี้ ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการลงสนามครบรอบ 16 ปีของ เจอร์ราร์ด กับ ลิเวอร์พูล โดยในเกมเมื่อ 16 ปีก่อน เขาลงสนามเป็นนัดแรกให้กับ "หงส์แดง" ในวัย 18 ปี ด้วยการถูกส่งเป็นสำรองแทนที่ของ เวการ์ด เฮ็กเก็ม ในช่วงนาทีสุดท้าย ระหว่างการพบกันของ ลิเวอร์พูล และ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ณ สนามแอนฟิลด์

View image on Twitter

          การส่ง ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ลงไปบดกับกองหลังคู่แข่ง เป็นผลทำให้การลงสนามของ เจอร์ราร์ด สามารถงัดเอาศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้มาก ซึ่งส่วนตัวแล้ว "กัปตันเจิด" เป็นนักเตะที่ไม่ต้องใช้เวลามากนักในการสร้างสรรค์เกม และขอเพียงโอกาสไม่กี่ครั้งก็สามารถสร้างความแตกต่างของเกมได้แล้ว เช่นเดียวกับที่ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ทำอยู่ในตอนนี้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้

          เจอร์ราร์ดในวัย 34 ปี ไม่จำเป็นต้องลงครบ 90 นาทีทุกครั้งเสมอไป เพราะว่าฤดูกาลนี้ของ ลิเวอร์พูล นั้นมีโปรแกรมลงเตะมากมายมหาศาลเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเกมพรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และแม้กระทั่งถ้วย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เรียกว่าลงเตะอย่างน้อย 45 เกมแน่นอน ซึ่งการใช้งานนักเตะอย่าง เจอร์ราร์ด ให้ครบทุกแมตช์ได้นั้น คงจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน แม้ว่าจะไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวนก็ตาม แต่ด้วยสังขารและพละกำลังที่ลดลงไปตามอายุ เป็นอุปสรรคสำคัญในการลงเล่นอย่างไม่ต้องสงสัย และการถูกดร็อปบาง เป็นสำรองบ้างก็คงจะดีไม่น้อย

          สรุปสุดท้าย...ตัวผมเห็นด้วยว่าน่าจะให้ เจอร์ราร์ด กลับมาเล่นในตำแหน่ง เพลย์เมกเกอร์หรือมิดฟิลด์หมายเลข 10 อยู่หลังกองหน้าน่าจะเวิร์คที่สุด และส่วนสำคัญก็คือการลงสนามในฐานะตัวสำรอง เลือกช่วงเวลาในนาทีที่ 60 เป็นต้นไปน่าจะดี และช่วยให้เขามีเวลาในการเล่นพอที่จะเปลี่ยนเกมได้ เชื่อว่าหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในสโมสรแห่งนี้ จะทำให้เขางัดเอาศักยภาพทั้งหมดที่มีมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมได้เต็มกำลัง

ADS